หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การสร้าง website ตอนที่ 2 : จดโดเมน, พิจารณาโฮส


ภาพจาก : http://www.wpsite.net

         จากตอนที่แล้วเราทราบว่าต้องมีชื่อ website หรือ Domain Name ของเราเอง และหลังจากที่เรามีชื่อแล้วเราต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับเก็บ website ของเรา เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง มีความเสถียรมากกว่าคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่เราใช้งานกัน เราเรียกคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ว่า Server (เซิร์ฟเวอร์) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ดังแสดงให้เห็นในภาพ (เครื่อง www)



ขอบคุณ : http://en.flossmanuals.net/bypassing-censorship/ch007_chapter-2-censorship/

      จากภาพ เจ้าเครื่อง www server ถ้าเราจะซื้อเอง และติดตั้งเองทั้งหมดจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แม้ว่าเครื่อง server ปัจจุบันมีเงินหมื่นกลางๆ ก็ซื้อได้แล้ว แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตซึ่งต้องจ่ายค่า IP Address ที่เป็น Public IP (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://onatcha46203.blogspot.com/2012/07/ip-address.html) ราคาแพงอยู่ดี (จ่ายรายเดือน หรือรายปี) อย่างต่ำก็เดือนละประมาณหมื่นต้นๆ (ราคาปี 2556) ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้เพื่อจัดเก็บไฟล์ หรือระบบไฟล์ที่ใช้แสดงผล website ของเราเพียง website เดียว
     ปัจจุบันจึงมีผู้ให้บริการทำเครื่องประเภทนี้มาแบ่งให้เช่า ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งเขาเรียกผู้ให้บริการหรือเครื่องที่ปล่อยให้เช่านี้ว่า Host (โฮส)

    เรื่องราคาก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละรายทำ package ออกมาขายแข่งขันกัน รูปแบบ คุณภาพ ความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างผู้ให้บริการ hosting เช่น 
  1. https://coolhosting.in.th/
  2. http://www.hostneverdie.com/
  3. http://www.chaiyohosting.com/
  4. https://www.pathosting.co.th/
    นี่เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ การเลือก host สำหรับมือใหม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรึกษาคนที่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว เลือกผิด บางทีก็เสียความรู้สึกไปนานแสนนานเหมือนผม การเลือก host ควรพิจารณาเรื่องต่อไปนี้ครับ




  1. ปรึกษาคนที่เคยมีประสบการณ์ก่อน เพราะปัญหาที่เจอมีหลากหลายครับ เช่น บริการหลังการขายไม่ดี มีปัญหาโทรไปไม่เคยรับ, ผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด, host ล่มบ่อย (web เราเข้าไม่ได้เป็นประจำ), ช้า กว่าจะเข้า web ได้รอนานเกินไป ฯลฯ  ปัญหาเหล่านี้สำหรับมือใหม่จะไม่สามารถรู้ได้เลย ว่า host นี้มีปัญหาเหล่านี้หรือปล่าว ต้องถามผู้มีประสบการณ์อย่างเดียวครับ 



  2. ระบบปฏิบัติการบน host เราอาจข้ามข้อนี้ไปก่อนในระดับพื้นฐาน เพราะระบบปฏิบัติการของ host ส่วนใหญ่นิยม Linux เพราะฟรีและเราสามารถเช่าได้ในราคาที่ถูกกว่า แตกต่างจาก host ที่เป็น Windows ซึ่งต้องเช่าในราคาที่สูงกว่าเนื่องจากผู้ให้บริการต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ Microsoft เช่นกัน สำหรับผู้รับบริการระดับพื้นฐานอาจตกใจ ว่าเวลาเราเขียนเว็บไซต์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งเป็น windows เวลาเช่า host ต้องเป็น windows ด้วย อันนี้ผิดนะครับ Linux Host สามารถรองรับการทำงานได้เช่นเดียวกันกับ Windows Host แทบทุกประการ (ยกเว้นพวกที่พัฒนาภาษา asp หรือ .NET อะไรเทือกนั้น) ดังนั้นถ้าเราไม่เขียน ASP, ASP.NET, VB.NET, C#, CrystalReport, MS Access, MSSQL ก็เลือก Linux Host แหละครับถูกกว่าเยอะ



  3. ดูพื้นที่จัดเก็บในแต่ละ package, และ bandwidth ที่เขาให้มาเหมาะสมกับราคาหรือไม่ bandwidth เป็นปริมาณข้อมูลที่วิ่งผ่านไป-มาในเว็บของเรา ง่ายๆ คือ คนเข้าเว็บเรามาก ข้อมูลก็จะถูกโหลดไปมาก bandwidth ก็จะนับสะสมไปเรื่อยๆ ผู้ให้บริการก็จะตั้งประมาณว่า 10GB ต่อเดือน ราคานึง, 100GB ต่อเดือนก็อีกราคานึง เราจึงต้องพิจารณาว่าเว็บเรามีการให้บริการข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เช่น บริการข้อมูลข่าวสารที่เป็นตัวอักษร, ภาพในข่าว(ขนาดไม่ใหญ่เกินไป) ประกอบกับเป็นเว็บใหม่ คนคงเข้าไม่มาก เราอาจเลือก package เล็กก่อน เช่น 10GB ต่อเดือนก็พอ แต่หากเว็บเราให้บริการวีดิโอ หรือการนำ youtube มานำเสนอผ่านเว็บเราเขาก็นับ bandwidth เช่นกัน หรือเปิดบริการ download โปรแกรม จะมีการใช้ปริมาณข้อมูลมาก ก็เลือก 100GB ไป แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถขยาย bandwidth ได้ เช่น เราเลือก 10GB แต่ในเดือนนั้น bandwidth เราเต็มก็แค่โทรไปยังผู้ให้บริการขอเพิ่มหรือเปลี่ยน package ได้ ตกลงราคากันเอาเอง บาง package เป็น unlimited คือไม่จำกัด อันนี้ดี ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเมื่อไรมันจะโดนตัด (เต็มแล้วตัด เข้าเว็บไม่ได้)



  4. ระบบฐานข้อมูล (Database System) เราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ที่เราจะสร้าง ผู้ให้บริการเขามีให้เลือกประมาณว่า 2 databases คือเราสามารถสร้างฐานข้อมูลได้ 2 ก้อน (ก็อาจสร้างได้ 2 website) บาง package ก็ unlimited คือไม่จำกัด สร้างได้เท่าที่ต้องการ ถ้าเราเขียนเว็บแบบ static website คือเขียน HTML ธรรมดา มีหน้า (pages) ไม่กี่หน้า ก็ไม่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูล ระบบฐานข้อมูลนั้นจำเป็นสำหรับเว็บประเภท dynamic ซึ่งจะเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูล ส่วนไฟล์หรือแฟ้มนั้นเป็นไฟล์ระบบที่ทำหน้าที่ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลมาแสดงอีกต่อหนึ่ง จะอธิบายในตอนต่อๆ ไปครับ ระบบฐานข้อมูลถ้าเป็น MySQL ก็ถูกหน่อยเพราะฟรี แต่ถ้าเป็นพวก MSSQL ก็แพงหน่อยเพราะผู้ให้บริการก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์มาจาก Microsoft



  5. โดเมน (Domain Name) บาง package แถมจดโดเมนให้ฟรีด้วย



  6. การรับประกัน uptime คือ สามารถเข้าเว็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่ล่ม (อันนี้อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ครับ) เคยเจอมาแล้ว รับประกัน uptime 99.5% ยังสงสัยจนปัจจุบันว่าผมคงทำบุญมาน้อยมาเจอ 0.5% ที่เหลือ เว็บล่มตลอด โทรไปไม่รับสาย ฯลฯ (ตอนนั้นยังใหม่เหมือนกัน หลังๆ ถามพี่ๆ เพื่อนๆ ก็เจอเหมือนกัน สรุป 99.5% คงเป็นของผู้ให้บริการ ส่วนลูกค้ารับ 0.5% ที่เหลือไปอะไรทำนองนั้น เลยเลิก เปลี่ยนไปใช้เจ้าอื่นแทน)



  7. ระบบจัดการ มีอยู่สองสามยี่ห้อให้เลือกใช้กัน ความยากง่าย ความสะดวกแตกต่างกันออกไป ราคาก็ต่างกันออกไปด้วย เพราะผู้ให้บริการก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์มา เช่น cPanel ค่อนข้างสะดวก ง่าย กว่าทุกยี่ห้อ แต่ต้องจ่ายค่าเช่าแพงหน่อย ถ้าทั่วไปก็จะเจอ DirectAdmin [ลองดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Comparison_of_web_hosting_control_panels]



  8. e-mail (อีเมล) เช่น เราจดโดเมนชื่อ organization.com เราก็จะสามารถสร้างอีเมล @organization.com ได้ เช่น webmaster@organization.com ซึ่งจำนวนอีเมลนั้นขึ้นกับผู้ให้บริการ เพราะแต่ละ package ก็จะมีจำนวน account มาให้ไม่เท่ากัน ถ้าเป็น unlimited ก็สามารถสร้างเมลได้ไม่จำกัด เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่เปิดรับสมัครสมาชิกเข้าเว็บ โดยมีอีเมลให้กับสมาชิกด้วย เราสามารถกำหนดพื้นที่ในการจัดเก็บอีเมลของแต่ละ account ได้อีก จะอธิบายในตอนต่อๆ ไป



  9. sub domain (ซับโดเมน) คือโดเมนย่อยๆ ซึ่งเรากำหนดด้วยตัวเองได้ เช่นเราจดโดเมนชื่อ organization.com เวลาเข้าเว็บก็จะเป็น http://www.organization.com ถ้าหากมีเว็บของหน่วยงานย่อยๆ อีก ก็เพิ่มซับโดเมนเพื่อสร้างเว็บใหม่ได้ เช่น http://department.organization.com เป็นต้น



  10. การสำรองข้อมูลของผู้ให้บริการ แน่นอนว่าปัญหาของเครื่องคอมพิวเตอร์เสียหายมันต้องมีเข้าสักวัน เช่นเดียวกันกับ server เพราะมันก็คือคอมพิวเตอร์นี่แหละ มีวันพังเป็นเหมือนกัน ผู้ให้บริการก็จะมีบริการสำรองข้อมูลของเราให้อัตโนมัติ  ซึ่งแต่ละเจ้าก็ไม่เหมือนกัน ประมาณว่าบางเจ้าสำรองสัปดาห์ละ 1 ครั้งทุกวันศุกร์เที่ยงคืน บางเจ้าทุกวันตอนตี 3 ข้อมูลที่สำรองมีการเก็บไว้ย้อนหลังไป 3 วัน 7 วันก็แล้วแต่เจ้าครับ พอ host เสีย ผู้ให้บริการก็จะสามารถเรียกคืนย้อนหลังให้เราได้ หรือเราทำเว็บเราเจ๊งเองก็สามารถโทรไปบอกให้เขากู้ของเมื่อวาน, ของเมื่อ 3 วันก่อน หรือ 7 วันก่อนมาให้เราได้ (บางเจ้าอนุญาตให้เราจัดการระบบสำรองข้อมูลนี้ได้ด้วยตนเองใน Control Panel)



  11. FTP เป็นช่องทางในการ upload ไฟล์ที่เราเขียนหรือพัฒนาเสร็จแล้วขึ้นไปไว้บน host ปกติจะมี account มาให้ แต่บางเจ้ายอมให้เราสร้าง FTP account เพิ่มได้อีก ขึ้นกับ package



  12. ตัวช่วยในการทำเว็บ เช่น มีตัวติดตั้ง Content Management System (CMS), Learning Management System (LMS), e-commerce (สำหรับเว็บขายสินค้า) ที่เป็นที่นิยมมาให้ ก็เป็นช่องทางในการเพิ่มความสะดวกของเราได้มากครับ



  13. อื่นๆ จำพวก โฆษณาจากผู้ให้บริการว่า host ของตัวเองมีคุณภาพแค่ไหน เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Cisco นะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า, สเปกเครื่อง server แรงนะ, มีเครื่องมือช่วยโปรโมทเว็บทำให้เว็บติดอันดับดีกว่าเจ้าอื่นนะ, อีเมลมีระดับความปลอดภัยสูงกว่า, มีเครื่องมือเร่งความเร็วโน่นนี่นั่น อะไรทำนองนี้ ก็แล้วแต่จะเลือกพิจารณากัน
ลองเลือกหาผู้ให้บริการ host ดูสักเจ้านึงก็ เข้า google แล้วค้น "host" จากนั้นศึกษา package ต่างๆ ของแต่ละเจ้า เลือกที่โดนใจมาสัก 2-3 เจ้า แล้วลองถามเพื่อน หรือคนที่คุ้นเคยในวงการดู ค่อยโทร หรือเมลไปติดต่อผู้ให้บริการดังกล่าว

ตอนต่อไปจะกล่าวเกี่ยวกับการติดต่อขอเช่า host ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น